ในเว็บไซต์นี้คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกดิจิทัล (Digital Resilience) การเข้าใช้งานแหล่งความรู้ในเว็บไซต์นี้ และวิธีการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกดิจิทัลให้แก่เด็กๆ ของคุณ
ภูมิคุ้มกันบนโลกดิจิทัล (Digital Resilience) คืออะไร?
“..ความสามารถในการตระหนักถึงภัยออนไลน์และวิธีการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ในการอยู่บนโลกออนไลน์ และสามารถที่จะกอบกู้สถานการณ์จากความยากลำบากและความไม่สบายใจได้”*
เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบนโลกดิจิทัลจะสามารถ:
- รู้ตัวเมื่อตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์
- รู้วิธีขอความช่วยเหลือ
- เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
- กอบกู้สถานการณ์ได้เมื่อเกิดความผิดพลาด
*อ้างอิงจาก The UK Council for Child Internet Safety (UKCCIS) Resilience Working Group
วิธีการใช้เว็บไซต์และเกมส์
ข้อมูลเพิ่มเติม
ทำไมภูมิคุ้มกันดิจิทัลถึงมีความสำคัญ?
เด็กที่มีความเข้มแข็งจะได้รับประโยชน์จากใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า และพวกเขาจะไม่ค่อยได้เจอกับภัยออนไลน์ ภูมิคุ้มกันนี้ไม่สามารถสร้างได้จากการเรียนในโรงเรียนหรือเป็นทักษะที่ได้จากการเรียนรู้ แต่มันจะเกิดขึ้นจากการปลูกฝังและดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง โดยคำถามและกิจกรรมในหลักสูดรดิจิเวิลด์นี้จะมุ่งเน้นไปที่การช่วยสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้แก่เด็กๆ ของคุณ
ช่วยด้วย! ฉันไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับโลกดิจิทัล! ฉันจะสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน?
หากมีศัพท์คำไหนที่คุณไม่เข้าใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกดิจิทัล คุณสามารถไปที่ ห้องสมุด (Library) เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและสร้างความมั่นใจให้แก่คุณในฐานะผู้ปกครอง
ทำไมฉันถึงต้องคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต? แล้วควรจะเริ่มต้นอย่างไร?
การเลี้ยงดูและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เขาไว้ใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ ถึงแม้ว่าคุณอาจคิดว่ายังไม่รู้จักโลกดิจิทัลมากพอ แต่คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ได้ ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์กับพวกเขา โดยเริ่มจากการถามถึงสิ่งที่พวกเขาชอบทำบนโลกออนไลน์ หรือแอพพลิเคชันและเว็บไซต์ที่พวกเขาชอบใช้
คุณอาจจะเริ่มต้นโดยการลองใช้งานหลักสูตรด้วยตนเองก่อน และศึกษาข้อมูลสำคัญในห้องสมุดเพื่อทำความเข้าใจถึงความหมายของการเป็นพลเมืองดิจิทัลและการมีภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ โจทย์ต่างๆ ในห้องสมุดและกิจกรรมในแบบทดสอบจะช่วยให้คุณเริ่มการสนทนาที่น่าสนใจกับเด็กๆ ได้
ถ้าฉันกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ ทำออนไลน์? ฉันควรจะทำอย่างไรดี?
เป็นความคิดที่ดีที่จะคุยกับเด็กๆ ตรงๆ ถึงสิ่งที่เขาทำบนโลกออนไลน์ ถ้าเขารู้สึกว่าสามารถที่จะเข้ามาคุยกับคุณได้เมื่อมีปัญหา โอกาสที่เขาจะปิดบังสิ่งผิดพลาดหรือปัญหาจากคุณก็จะลดน้อยลง
หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้เยาวชนสามารถตระหนักถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นภัย และสิ่งที่พวกเขาควรจะทำเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆ รู้ว่าเขาสามารถเข้ามาคุยกับคุณได้ โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาถูกล่อลวงให้ทำสิ่งที่น่าละอายและทุกข์ใจบนโลกออนไลน์
คุณควรทำกิจกรรมการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ เพื่อที่จะได้พูดคุยถึงสิ่งที่เป็นกังวลไปด้วยกัน
ดูเหมือนเด็กๆ จะอยู่หน้าจอตลอดเวลา ฉันควรจะกังวลหรือไม่?
เมื่อพูดถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือของเด็ก สิ่งที่สำคัญกว่าระยะเวลาก็คือเขาทำอะไรเมื่ออยู่หน้าจอ คุณควรจะคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับเวลาการใช้งาน ถามว่าเขาใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับการอ่าน การค้นคว้า และทำการบ้านหรือเปล่า? หรือว่าใช้สำหรับสื่อสารกับเพื่อน? ใช้เวลามากแค่ไหนกับการเล่นเกมออนไลน์? มันเป็นเรื่องดีที่จะเริ่มพูดคุยและแสดงความใส่ใจในกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เวลาหน้าจอ สามารถอ่าน บทวิจัยของ Dr Andrew Przybylski จาก Oxford Internet Institute ที่แนะนำว่า การใช้เวลาหน้าจอที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป คือสิ่งที่เหมาะสม
ฉันคิดว่าเด็กในดูแลของฉันกำลังรังแกคนอื่นบนโลกออนไลน์อยู่ ฉันควรจะทำอย่างไร?
หลักสูตรนี้สอนให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอยู่บนโลกออนไลน์อย่างมีน้ำใจ รวมถึงความสำคัญของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลักมารยาทบนอินเทอร์เน็ต (Netiquette) มันเป็นการง่ายที่เด็กจะตกอยู่ในสถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyberbullying) ทั้งๆ ที่เขาจะไม่ทำสิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ซึ่งหน้ากัน คุณสามารถคุยกับลูกของคุณว่า ข้อความแย่ๆ หรือการเจตนาสร้างความอับอายให้ผู้อื่นมีผลเชิงลบต่อความภาคภูมิในตนเองของคนอื่นอย่างไร คุณควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการสื่อสารอย่างมีน้ำใจและหลีกเลี่ยงการแชร์รูปภาพที่อาจจะสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับคนอื่นมากเกินไป
ฉันควรจะทำอย่างไรถ้าเด็กๆ ถูกคุกคามบนโลกออนไลน์โดยคนแปลกหน้า?
เราอาจจะรู้สึกอยากลบข้อความที่สร้างความไม่สบายใจเหล่านั้นทิ้ง แต่การเก็บข้อความเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐานก็เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณอาจจะใช้วิธีการบันทึกหน้าจอเก็บไว้ หากการคุกคามนี้เกิดขึ้นจากคนแปลกหน้า หลักฐานนี้จะใช้ในการตรวจสอบว่าการคุกคามเกิดขึ้นอย่างไร และเกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ไหน ขั้นตอนต่อไปก็คือการรายงานการกลั่นแกล้งให้กับผู้ควบคุมดูแล แล้วบล็อกคนเหล่านั้นซะ เพื่อไม่ให้เขาติดต่อกับเด็กๆ ได้อีก
ฉันจะรายงานและบล็อกผู้อื่นบนเว็บไซต์ได้อย่างไร?
บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือจะมีขั้นตอนให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นความคิดที่ดีหากคุณและเด็กๆ จะคิดหาวิธีทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วยกัน เพื่อจะร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยคุณสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานและการบล็อกเพิ่มเติมได้ในห้องสมุด
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและขั้นตอนอย่างละเอียดได้ในคู่มือสำหรับผู้ปกครองบนเว็บไซต์ The Parent Zone
ช่วยด้วย! ฉันไม่เข้าใจขั้นตอนการเปลี่ยนค่าความเป็นส่วนตัวและการเพิ่มตัวกรองบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน
คลิกที่ห้องสมุด เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยืนยันตนเองแบบสองขั้นตอน
เว็บไซต์ Parent Zone มีคู่มืออย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานแอพพลิเคชันและเว็บไซต์โซเชียลมีเดียยอดนิยม รวมถึงขั้นตอนการตั้งค่าตัวกรองและค่าความเป็นส่วนตัว
วิธีการใช้เกม ห้องสมุด และเว็บไซต์
สามารถเล่นเกมตอบคำถามบนสมาร์ทโฟนได้หรือไม่?
ได้ เกมและคำถามในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟรองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน คุณสามารถเล่นเกมและเข้าถึงแหล่งข้อมูลบนเว็บไซต์ได้จากสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
หลักสูตรนี้สามารถใช้ออฟไลน์ได้หรือไม่?
สามารถดาวน์โหลดใบงาน ชุดคำถามแบบปรนัย หรือข้อมุลในห้องสมุด มาใช้งานออฟไลน์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
อินเทอร์แอคทีฟเกมคืออะไร?
อินเทอร์แอคทีฟเกมช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้าและเรียนรู้ได้ตามความสะดวกของพวกเขา
ในเกมจะมีแอนิเมชั่นสั้นๆ และคำถามง่ายๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้พร้อมกับทดสอบระดับความรู้ได้อย่างสนุกสนาน
เกมถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยเนื้อหาจะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้มา
เนื้อหาถูกออกแบบมาสำหรับเด็กอายุ 7 -16 ปี* นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กอายุ 5-6 ปีโดยเฉพาะ
* ถึงแม้จะมีการแนะนำอายุที่เหมาะสมของเด็กสำหรับเนื้อหาในแต่ละระดับ แต่เนื้อหาทั้งหมดเหมาะสมกับเด็กอายุ 7-16 ปี ช่วงอายุที่แนะนำสำหรับแต่ละระดับขึ้นอยู่กับความรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัลของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากห้องสมุด และยังสามารถเลือกทำแบบทดสอบซ้ำ เพื่อจะผ่านขึ้นไปยังระดับถัดไปได้
รางวัลและคำชมเชย
เด็กๆ จะได้รับโล่รางวัลดิจิทัลเมื่อทำแบบทดสอบแต่ละชุดเสร็จ และเมื่อสะสมโล่รางวัลดิจิทัลสำหรับระดับนั้นๆ ครบทั้งหมดแล้ว ก็จะได้รับประกาศนียบัตรดิจิทัลที่ระบุรายละเอียดของเนื้อหาที่พวกเขาได้เรียนรู้ และร่วมยินดีกับความสำเร็จของพวกเขา
ผู้เรียนจะต้องผ่านการเรียนรู้ในแต่ละระดับเพื่อที่จะผ่านไปสะสมโล่รางวัลในระดับถัดไป
หลักสูตรนี้เหมาะสมสำหรับทุกช่วงวัยหรือไม่?
เนื้อหาทั้งหมดเหมาะสมสำหรับเด็กหญิงและชายอายุ 5-16 ปี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กอายุ 5-6 ปีโดยเฉพาะ ระดับชั้นที่เหมาะกับเด็กแต่ละคนขึ้นอยู่กับความรู้ที่มีมาก่อนของพวกเขา โดยเด็กๆ สามารถเรียนรู้หลักสูตรนี้ได้อย่างต่อเนื่องจนเลื่อนไปสู่ระดับสูงสุดได้
เด็กๆ จะสามารถเรียนจนจบทั้งสามระดับได้หรือไม่?
ได้แน่นอน เด็กๆ สามารถทำแบบทดสอบซ้ำได้ ซึ่งเมื่อเขาทำคะแนนได้สูงพอ ก็จะสามารถผ่านขึ้นไปสู่ระดับต่อไปได้ โดยในหลักสูตรนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ นอกจากนี้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนทำแบบทดสอบซ้ำอีกรอบ น้องๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากห้องสมุด เนื้อหาทั้งหมดเหมาะสมกับเด็กทุกวัย แต่คำถามและโจทย์จะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยระดับเริ่มต้นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยอาจจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เด็กๆของฉันพบว่าคำถามเริ่มต้นยากเกินไป เขาสามารถจะเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากที่ไหน?
เนื้อหาทั้งหมดในหลักสูตรถูกรวบรวมไว้ที่ห้องสมุด ถ้าเด็กๆ ทำคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์ พวกเขาสามารถที่จะเลือกเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมในห้องสมุด ก่อนที่จะทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้ง หรือพวกเขาจะเลือกลดระดับลงมาเพื่อดูว่าแบบทดสอบอาจเหมาะกับพวกเขามากกว่าหรือไม่ก็ได้
เกมส์ถูกออกแบบให้ผู้เล่นได้เล่น คิด ตั้งคำถาม จดจำ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนรู็
ฉันจะช่วยเด็กๆ ในการเรียนรู้หลักสูตรนี้ได้อย่างไร?
มีหลายวิธีที่พ่อแม่ ผู้ดูแล และครูอาจารย์สามารถช่วยเหลือเด็กๆ ตลอดหลักสูตรการเรียนรู้นี้ เริ่มจากช่วยเด็กๆ อ่านและทำความเข้าใจโจทย์คำถาม ทำแบบทดสอบด้วยกัน และใช้โจทย์ในห้องสมุดเป็นหัวข้อในการสนทนาและค้นคว้าเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีชุดคำถามพิเศษสำหรับผู้ใหญ่ที่ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดไปศึกษา เพื่อเพิ่มความรู้ที่จำเป็นในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ด้วย
ในแต่ละระดับมีความแตกต่างกันอย่างไร?
ความซับซ้อนของเนื้อหาจะเพิ่มขึ้นในแต่ละระดับ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลในรูปแบบใหม่และท้าทายยิ่งขึ้น
ระดับ 1: การแยกแยะ
ในระดับนี้ เด็ก ๆ จะสามารถระบุได้ว่าสถานการณ์และทางเลือกใดที่ส่งผลเชิงบวกหรือลบ ซึ่งเหมาะสำหรับการเรียนรู้สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มสำรวจโลกออนไลน์
ตัวอย่างเช่น แยกได้ว่าข้อความใดที่แสดงน้ำใจหรือทำร้ายจิตใจผู้อื่น
อี๋! เธอดูแย่มาก!
เธอมันคนขี้แพ้!
เสียใจด้วยนะที่เธอรู้สึกเศร้า หวังว่าพรุ่งนี้เธอจะรู้สึกดีขึ้นนะ!
ระดับ 2: ความเข้าใจ
ในระดับนี้ เด็กๆ จะมีความเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมแต่ละสถานการณ์และทางเลือกถึงส่งผลบวกหรือลบ ซึ่งเนื้อหาเป็นการต่อยอดจากบทเรียนในระดับ 1 โดยมีการใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้น พร้อมกับตัวอย่างจากเหตุการณ์จริง
ตัวอย่างเช่น:
การตีความหมายของข้อความออนไลน์ผิดสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะเราไม่ได้ยินหรือเห็นท่าทางของผู้สื่อสาร จงระบุว่าข้อความต่อไปนี้เป็นเรื่องร้ายกาจหรือเป็นเรื่องเข้าใจผิด?
“เธอดูแย่มากเลย! ฉันดีใจที่ไม่ได้ดูเหมือนเธอนะ!”
“อืม….รูปภาพนั้นมันดูแปลกๆ นะ”
“รูปเธอรูปนั้นดูตลกจัง”
ระดับ 3: การประเมินผล
ในระดับนี้ เด็กจะสามารถประเมินได้ว่าวิธีแก้ปัญหาแบบใดเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ บทเรียนระดับนี้เหมาะสำหรับเด็กโตหรือผู้ที่มีประสบการณ์บนโลกออนไลน์และใช้โซเชียลมีเดียมาแล้ว
ตัวอย่างเช่น:
ลองดูข้อความที่ทำร้ายจิตใจผู้อื่นเหล่านี้ และเลือกว่าแต่ละข้อความจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด:
ก) การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ ข) การสร้างความอับอายให้เพื่อน ค) การเกรียน
‘ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเธอดัง รูปทั้งหมดของเธอดูแย่มาก ฉันไม่เข้าใจว่าเธอจะเสียเวลาโพสต์มันทำไม’
ทำไมเด็กๆ ต้องกรอกชื่อด้วย?
ระบบเกมอินเทอร์แอคทีฟสามารถบันทึกความก้าวหน้าในการเล่นของผู้เล่นได้ถึง 3 คน เด็กๆ สามารถเลือกใส่ชื่อจริง ชื่อเล่น ชื่อย่อ หรือคำใดๆ ก็ได้ วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กๆ แต่ละคนรู้ว่าเกมไหนคือเกมที่เขาเล่นค้างไว้ และสามารถเล่นเกมต่อจากจุดที่พวกเขาหยุดไว้ได้เลย จะมีเพียงผู้เล่นที่ใช้เครื่องและเบราว์เซอร์เดียวกันเท่านั้นที่จะเห็นชื่อที่ใส่ไว้ ชื่อของเด็กๆ จะไม่ถูกเผยแพร่หรือเก็บไว้ที่ใดนอกเหนือจากบนอุปกรณ์ของคุณเอง โดยที่คุณสามารถลบชื่อและประวัติการเล่นได้ทุกเมื่อจากเมนูหลักของเกม
ทำไมเด็กๆ ถึงต้องระบุอายุ?
อายุของเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดเนื้อหาที่เหมาะสมให้เด็กแต่ละคน เด็กอายุ 5-6 ปีจะถูกจัดให้เข้าไปสู่พื้นที่พิเศษซึ่งมีเนื้อหาเหมาะกับช่วงวัยเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้กับพวกเขา ส่วนเด็กอายุ 7-16 ปีจะเข้าสู่บทเรียนใดใน 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับคะแนนจากการตอบคำถาม และความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของพวกเขา
ข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ จะถูกเก็บไว้หรือเปล่า?
เราใช้ Google Analytics ในการเก็บข้อมูลจำนวนผู้เล่นเกมในแต่ละช่วงอายุ ส่วนชื่อและอายุของผู้เล่นจะถูกเก็บไว้ใน “คุกกี้” (Cookie) บนฮาร์ดไดรฟ์ของคุณ เพื่อที่ผู้เล่นจะสามารถหยุดและกลับมาเล่นเกมได้อย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้เก็บข้อมูลชื่อของผู้เล่น หรือมีการนำข้อมูลไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ส่วนข้อมูลอายุของผู้เล่นจะถูกเก็บแบบไม่ระบุชื่อโดย Google Analytics เพื่อที่จะรวบรวมจำนวนของผู้เล่นในแต่ละช่วงอายุ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมและวิเคราะห์แบบไม่มีการระบุตัวตนของผู้เล่นโดยเทเลนอร์ (Telenor) และแพเร้นท์โซน (Parent Zone) เพื่อจุดประสงค์ในการตรวจสอบและปรับปรุงการออกแบบเกมและเนื้อหา